หายโควิดแล้วอย่าชะล่าใจ หายแล้วก็ต้องระวัง ใครที่ยังปลอดภัยไม่ติดเชื้อก็ต้องระมัดระวังกันต่อไป ส่วนใครที่พลาดท่าติดเชื้อไป แม้จะรักษาตัวจนหายดีแล้วก็ยังไม่ควรการ์ดตก เพราะโอกาสติดเชื้อซ้ำก็มีอยู่ นอกจากนี้ผู้ที่หายป่วยแล้วยังควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเองให้ดี เพราะก็มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็น Long COVID ได้อีกด้วย ซึ่งถ้าเป็นแล้วก็อาจมีภาวะความผิดปกติที่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลง จนไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขได้ในระยะยาว
นอกจากเชื้อโควิด-19 จะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด และ อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายแล้ว ยังมีผลกระทบต่อสมองและระบบประสาทอีกด้วย ซึ่งอาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อโควิด-19 สามารถนำไปสู่ความเสียหายของเซลล์สมองแบบเฉียบพลันได้ ในช่วงเกิดการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ป่วยไอซียู หรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของร่างกายของผู้ป่วยหลายๆ อย่างที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองและระบบประสาท ตั้งแต่การมีไข้สูง ไปจนถึงการที่ร่างกายมีระดับออกซิเจนอยู่น้อยเกินไป ซึ่งทำให้ระบบอวัยวะทั้งหมดของร่างกายล้มเหลว หรือไม่ทำงานไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ
การที่ระบบภูมิคุ้มกันในตัวผู้ป่วย เกิดทำงานมากเกินไป ด้วยเจตนาที่จะยับยั้งและทำลายเชื้อไวรัส จนก่อให้เกิดอาการอักเสบผิดปกติขึ้นกับระบบประสาทหรือสมอง รวมทั้งการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดอาการตีบ ตัน ของเส้นเลือด ซึ่งจะส่งผลต่อสมองหรือระบบประสาททันที
Long COVID คืออะไร ทำไมจึงเกิดขึ้นได้?
Long COVID หรือ Post COVID Syndrome หมายถึง กลุ่มอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากการติดเชื้อโควิดและหายดีแล้ว ซึ่งหากเป็นก็จะมีอาการอยู่นานหลายเดือน โดยสาเหตุของการเกิดกลุ่มอาการ Long COVID เป็นผลมาจากการที่ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโควิดด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ซึ่งในขณะทำการต่อสู้นั้นจะก่อให้เกิดสารอักเสบหลั่งออกมาเป็นจำนวนมาก สารอักเสบเหล่านี้เมื่อหลั่งออกมาทั่วร่างกาย จะทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะตึงเครียด อ่อนล้า จนก่อให้เกิดอาการ Long COVID ในที่สุด
คนไข้กลุ่มใด เสี่ยงภัย Long COVID มากที่สุด?
แน่นอนว่าคนที่จะป่วยเป็น Long COVID ได้นั้น จะต้องเป็นผู้ป่วยที่หายจากการติดเชื้อโควิดแล้ว แต่ทั้งนี้ โอกาสในการเกิดภาวะ Long COVID จะอยู่ที่ประมาณ 30-70% ของผู้ติดเชื้อที่หายดีแล้วทั้งหมด ซึ่งมักจะพบมากในกลุ่มคนไข้ที่มีอาการรุนแรง กล่าวคือ ยิ่งคนไข้มีอาการป่วยรุนแรงจากการติดเชื้อโควิดมากเท่าไร เมื่อหายดีแล้วก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยเป็น Long COVID มากเท่านั้น เพราะในช่วงที่ป่วยหนักนั้น ร่างกายจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อสู้กับเชื้อโควิดมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มคนไข้ผู้หญิงมีโอกาสเป็น Long COVID มากกว่าผู้ชาย และผู้ป่วยในกลุ่มโรคอ้วน โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จะมีโอกาสป่วยเป็น Long COVID และมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
หากสงสัยว่าเป็น Long COVID ทำไมจึงควรรีบพบแพทย์?
แม้กลุ่มอาการ Long COVID จะหายเองได้ แต่หากดูแลตัวเองไม่ดีพอ อาการก็จะรุนแรงขึ้นจนกระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำงาน ทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ลงและไม่มีความสุข ทั้งนี้ ด้วย Long COVID เป็นกลุ่มอาการที่จะอยู่กับผู้ป่วยประมาณ 3 เดือนเป็นอย่างน้อย ซึ่งถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ดังนั้น เมื่อพบว่ามีอาการต้องสงสัยเสี่ยงเป็น Long COVID จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติโดยเร็ว นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มอาการต้องสงสัยที่เกิดขึ้น อาจไม่ได้เป็นผลมาจาก Long COVID ก็ได้ แต่เป็นผลมาจากภาวะแทรกซ้อน หรือความผิดปกติอื่นๆ ที่ควรรักษา เช่น
ตับอักเสบหรือไตวาย จากการรับประทานฟ้าทะลายโจรมากเกินไปในช่วงกักตัวรักษาโควิด ซึ่งอาจทำให้หลังหายดีแล้ว ยังพบอาการตัวร้อน มีไข้ ที่คล้ายกับ Long COVID ได้ และอาการจะยิ่งทรุดหนักมากขึ้น หากไม่ได้รับการรักษา
ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อันเป็นผลมาจากการรักษาโควิด ซึ่งอาจทำให้มีอาการ หอบ เหนื่อย อ่อนเพลีย ที่เหมือนกับ Long COVID จึงควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยให้ชัดว่าเป็นอาการผิดปกติจากโรคใด
อ่อนเพลียจากภาวะ CFS (Chronic Fatigue Syndrome) หรือ กลุ่มอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้าเรื้อรัง ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้จะคล้ายกันกับ Long COVID คือ เป็นผลมาจากความเครียด และการติดเชื้อไวรัส การไปพบแพทย์จึงเป็นหนทางที่จะช่วยยืนยันว่าเราเป็นโรคใดกันแน่ เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง