“ล้านช้าง” ขบวนรถไฟหัวกระสุน เตรียมวิ่งเชื่อมเส้นทางระหว่างจีน-ลาว

News

รถไฟหัวกระสุนถูกส่งมอบอย่างเป็นทางการแก่บริษัท ทางรถไฟลาว-จีน จำกัด ซึ่งเป็นกิจการร่วมค้าในเวียงจันทน์ที่รับผิดชอบการก่อสร้างและการดำเนินงานทางรถไฟสายนี้ ณ พิธีส่งมอบที่สถานีฯ โดยมีเจียงไจ้ตง เอกอัครราชทูตจีนประจำลาว และเวียงสะหวัน สีพันดอน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่งลาว เข้าร่วม

ขบวนรถไฟหัวกระสุนชื่อ “ล้านช้าง” ที่ผลิตโดยซีอาร์อาร์ซี คอร์เปอเรชัน (CRRC Corporation) ของจีน จะถูกใช้งานในการวิ่งเที่ยวทดสอบในอนาคตอันใกล้ โดยล้านช้างหรือหลานชางเป็นชื่อของตอนบนของแม่น้ำโขงในจีน ถือเป็นสัญลักษณ์สายสัมพันธ์เพื่อนบ้าน มิตรสหาย และหุ้นส่วนที่ดีระหว่างจีน-ลาว

การรถไฟแห่งประเทศจีนได้สั่งการกลุ่มบริษัทออกแบบและผลิตปรับตัวเข้ากับสภาพการคมนาคมขนส่งข้ามพรมแดนอย่างแข็งขัน ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานอย่างเต็มกำลัง และดำเนินการปรับปรุงพัฒนาตามความจำเป็น สำหรับการผลิตรถไฟหัวกระสุนล้านช้าง ซึ่งเป็นรถรางไฟฟ้า (Electric Multiple Unit : EMU)

เทคโนโลยีอันก้าวหน้าช่วยให้รถไฟหัวกระสุนล้านช้างปลอดภัย สะดวกสบาย และเชื่อถือได้ มาพร้อมศักยภาพการบรรทุกผู้โดยสารขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนการดำเนินงานต่ำ และประสิทธิภาพหลักในการทำงานที่สอดคล้องกับข้อกำหนดการดำเนินงานทางรถไฟจีน-ลาวอย่างสมบูรณ์

รถไฟหัวกระสุนล้านช้างถูกลงสีธงชาติลาวอันได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน และสีขาว ส่วนการออกแบบภายในผสมผสานองค์ประกอบจีนดั้งเดิมและวัฒนธรรมลาว ส่องสะท้อนวิสัยทัศน์การมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชนชาวลาวและมิตรภาพระหว่างประชาชนสองประเทศ

การรถไฟฯ ระบุว่า รถไฟหัวกระสุนล้านช้างมีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ประกอบด้วย 9 ตู้ ซึ่งครอบคลุมตู้หัวรถจักร ตู้เสบียง ตู้โดยสารชั้นหนึ่ง และตู้โดยสารชั้นสอง (6 ตู้) โดยมีเก้าอี้โดยสารรวมกันทั้งหมด 720 ที่นั่ง

ตู้โดยสารติดเครื่องปรับอากาศอันกว้างขวางมาพร้อมเก้าอี้ที่นั่งสะดวกสบาย ซึ่งถูกติดตั้งปลั๊กไฟตามมาตรฐานจีนและลาว ตู้เสบียงถูกติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารและการพักผ่อนของผู้โดยสาร ส่วนหน้าจอ การประกาศเสียงตามสาย และป้ายบริการ มีทั้งภาษาจีน ภาษาลาว และภาษาอังกฤษ

ขณะที่ตู้โดยสารลำดับที่ 4 ของขบวนรถไฟมีพื้นที่ราบเรียบไร้สิ่งกีดขวางอันจะเป็นอุปสรรคต่อผู้โดยสารที่พิการ โดยมีการติดตั้งเก้าอี้ที่นั่งพิเศษ ราวจับ ห้องน้ำ ปุ่มแจ้งขอความช่วยเหลือฉุกเฉิน และป้ายนำทางภาษาเบรลล์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่การเดินทาง

ทั้งนี้ ทางรถไฟจีน-ลาว เป็นโครงการเชื่อมต่อระหว่างแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ที่นำเสนอโดยจีน และยุทธศาสตร์ของลาวที่มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงตนเองจากประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางบก

การก่อสร้างทางรถไฟโดยสารและขนส่งสินค้าที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าได้ประยุกต์ใช้มาตรฐานการบริหารจัดการและเทคนิคของจีนอย่างเต็มที่ โดยการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ลาวเริ่มต้นเมื่อเดือนธันวาคม 2016 และมีกำหนดเสร็จสิ้นพร้อมเปิดบริการในเดือนธันวาคม 2021