บ้านโครงการใหม่ : เทคนิคเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้านอย่างไร ไม่ถูกโกง ผู้ที่กำลังสร้างบ้านหลายคนหัวจะปวดกับ “ปัญหาผู้รับเหมาสร้างบ้าน” ซึ่งเป็นปัญหาที่มักได้ยินข่าวอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาทิ้งงาน โดนโกง หรือบางที่อาจวางแผนงานไม่ดีจนทำให้ค่าใช้จ่ายบานปลาย ดังนั้นการพิจารณาเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้านจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก วันนี้เรามีเทคนิคเบื้องต้นในการเลือกผู้รับเหมาสร้างบ้านมาฝากกัน เลือกอย่างไรไม่ให้บ้ง!! ลดความเสี่ยงหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้น
1. มีความน่าเชื่อถือ
ปกติผู้รับเหมาขนาดกลางถึงขนาดใหญ่จะมีทีมงานประจำครบทั้งสถาปนิก วิศวกรโยธา วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรสุขาภิบาล และโฟร์แมน (หัวหน้าคนงาน) แต่สำหรับผู้รับเหมารายเล็กอาจจะจ้างทีมงานดังกล่าวไว้เป็นที่ปรึกษาหรือจ้างเพียงครั้งคราวเท่านั้น ดังนั้นหากจะเลือกใช้ผู้รับเหมารายเล็ก เจ้าของบ้านควรพิจารณาว่าทีมงานเหล่านั้นมีความรู้ ความสามารถ รวมถึงประสบการณ์เพียงพอที่จะสร้างบ้านให้ได้หรือไม่ โดยเฉพาะวิศวกร และสถาปนิกแนะนำให้เลือกบุคคลที่มีใบประกอบวิชาชีพ และผู้รับเหมาที่ดีควรได้รับการอบรมจากสถาบันที่รับรองได้ด้วย นอกจากนี้หากมีที่ตั้งบริษัท หรือที่อยู่ชัดเจน ย่อมสร้างความน่าเชื่อถือได้มากกว่าบริษัทที่ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
2. มีผลงานที่ผ่านมาให้ดู
การหาผู้รับเหมารับสร้างบ้านส่วนใหญ่จะมาจาก 2 วิธี คือ
หาจากคนรู้จัก ที่แนะนำกันแบบปากต่อปาก ซึ่งเคยมีประสบการณ์สร้างบ้านกับผู้รับเหมานั้นๆ มาก่อน เราสามารถสอบถามถึงคุณภาพงานที่ผ่านมาจากคนรู้จักได้ และค่อนข้างเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
ผู้รับเหมาที่ไม่เคยรู้จัก แนะนำให้ขอดูผลงานเก่าที่เคยผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่าย หากให้พาไปชมสถานที่จริงได้ด้วยยิ่งดี เพราะบางทีอาจมีโอกาสไปพุดคุยกับเจ้าของบ้านนั้นๆ และทราบถึงความคิดเห็นที่มีต่อผู้รับเหมานั้นมากยิ่งขึ้น
3. ราคาเหมาะสม
ในการเปรียบเทียบราคาค่าก่อสร้างต้องอ้างอิงจาก “เอกสารราคากลาง” ซึ่งเป็นเอกสารที่สถาปนิกทำให้ เพื่อบอกรายละเอียดของราคาค่าก่อสร้างในหมวดต่างๆ โดยแสดงรายละเอียดปลีกย่อยว่าจะใช้วัสดุอะไรในปริมาณเท่าไหร่ และแยกค่าแรงเอาไว้อย่างชัดเจน โดยจัดการประมูลราคาให้ผู้รับเหมาแต่ละรายเสนอราคามาเทียบกัน ซึ่งควรเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาใน “เอกสารราคากลาง”
กรณีที่เจ้าของบ้านตั้งใจจะจัดซื้อวัสดุเองควรแจ้งให้ผู้รับเหมาทราบตั้งแต่ต้นเพื่อที่ผู้รับเหมาจะได้ไม่คิดราคาในส่วนนี้ และทำสำคัญอย่าลืมตรวจดูรายการวัสดุที่ระบุในใบเสนอราคาให้ครบถ้วนตามรายการวัสดุที่ระบุในเอกสารราคากลางด้วย
4. มีแผนงานที่ดี
ผู้รับเหมาที่ดีจะต้องมีการทำแผนงานก่อสร้าง โดยแสดงระยะเวลาการทำงานในแต่ละขั้นตอนมาให้เราดูอย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย ซึ่งการวางแนงานที่ดีนั้นจะเกิดจากความรู้ และประสบการณ์ในการทำงานของผู้รับเหมา เช่น การบริหารคนงาน การสั่งวัสดุล่วงหน้า การหมุนเวียนเงินทุน และการจัดการกับปัญหาหน้างานที่อาจเกิดขึ้น และที่สำคัญคือ จะต้องควบคุมเวลาในการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้จัดวางไว้ด้วย
5. มีหนังสือสัญญาที่ชัดเจน
ในการว่าจ้างผู้รับเหมาสร้างบ้านควรทำหนังสือ “สัญญาว่าจ้างรับเหมางานก่อสร้าง” ทุกครั้ง โดยเจ้าของบ้านควรอ่านหนังสือสัญญาให้ละเอียดรอบคอบ ถึงแม้ว่าจะมีเนื้อหาและมีรายละเอียดที่มากแต่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องอ่าน โดยเนื้อความในสัญญานั้นแบ่งเป็นหมวดต่งๆ ดังนี้
หมวดที่ 1 : รายละเอียดทั่วไป มีเนื้อความแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อที่อยู่ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง ชื่อสถาปนิก และวิศวกรทุกแขนง และเกี่ยวกับรายการแบบต่างๆ พร้อมระยะเวลาการก่อสร้าง
หมวดที่ 2 : บอกเรื่องค่าตอบเทนในราคาจ้างเหมาก่อสร้าง และมีเนื้อความเกี่ยวกับวัสดุเพื่อใช้ในการก่อสร้างที่เจ้าของบ้านจะเป็นผู้จัดซื้อเองแสดงไว้ด้วย
หมวดที่ 3 : หน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละฝ่าย
หน้าที่ผู้ว่าจ้าง จะเกี่ยวกับการจ่ายเงินตามระยะเวลา และจัดสรรแบบให้แก่ผู้รับเหมา
หน้าที่ผู้ออกแบบ จะเกี่ยวกับการแก้ไขแบบ การแก้ไขข้อปัญาหาในกรณีแบบเกิดความขัดแย้ง เป็นต้น
หน้าที่ผู้ตรวจงาน เป็นผู้มีสิทธิ์ในการตรวจและอนุมัติวัสดุขั้นตอน และผลงานในการก่อสร้างต่างๆ
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับจ้าง ต้องทำงานตามสัญญา เช่น การจัดหาเครื่องมือ และวัสดุที่มีมาตรฐาน เวลาเข้าทำงาน และการจัดคนเข้าทำงาน
หมวดที่ 4 : การชำระค่าตอบแทน การแบ่งงวดการชำระเงิน การหักค่าประกันผลงาน เอกสารประกอบการส่งผลงานแต่ละงวด การหักภาษีฯ
หมวดที่ 5 : การติดต่อราชการและกฏหมาย เริ่มตั้งแต่การต่อใบอนุญาตก่อสร้าง การขอน้ำ-ไฟชั่วคราว และน้ำ-ไฟจริง การจัดให้มีสถาปนิก และวิศวกรควบคุมงาน ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมายก่อสร้างต่างๆ
หมวดที่ 6 : ความรับผิดชอบต่อสาธารณสมบัติ อาคารข้างเคียง และการป้องกันภัยต่างๆ เช่น การดูแลทำความสะอาดถนน ตลอดจนท่อระบายน้ำสาธารณะและการป้องกันฝุ่นละอองรบกวนอาคารข้างเคียง เป็นต้น
หมวดที่ 7 : การเปลี่ยนเปลง การลดหรือเพิ่มงาน การเปลี่ยนแปลงวัสดุและการตัดงานบางส่วนออก ซึ่งเจ้าของบ้านมีสิทธิ์ปรับได้ (สามารถเพิ่มงาน หรือตัดงานได้ตามข้อตกลง) โดยดูจากรายการราคาค่าของและค่าแรง
หมวดที่ 8 : การต่ออายุสัญญา การปรับ การบอกเลิกสัญญา และการเรียกร้องค่าเสียหายซึ่งในเนื่อหาจะเป็นกรณีที่สามารถกระทำต่อกันได้จากทั้ง 2 ฝ่าย เช่น หากเจ้าของบ้านไม่ชำระเงินงวด ผู้รับจ้างก็สามารถหยุดงานหรือบอกเลิกสัญญาได้ หรือหากผู้รับจ้างทำานล่าช้า เจ้าของบ้านก็สามารถปรับเงินได้เป็นรายวัน ตามอัตราที่ได้ตกลงกันไว้
หมวดที่ 9 : การประกันผลงาน กำหนดเรื่องระยะเวลาการประกันผบลงานและการเข้าซ่อมแซมตามระยะเวลา ตลอดจนถึงการคืนค่าประกันผลงานให้แก่ผู้รับจ้างเป็นงวดๆ ตามช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้
หมวดที่ 10 : การฟ้องร้องต่างๆ ในกรณีพิพาทอันเนื่องจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายตกลงให้ดำเนินคดีที่ศาลแพ่งประจำจังหวัดต่างๆ เพียงแห่งเดียว