บริหารจัดการอาคาร: สตาร์ทเตอร์ กระพริบ กับ หลอดไฟเสีย แก้ยังไงดี

News

บริหารจัดการอาคาร: สตาร์ทเตอร์ กระพริบ กับ หลอดไฟเสีย แก้ยังไงดี เรื่องของสตาร์ทเตอร์ที่ตัวถัง หรือปลอกหุ้มแตกเสียหาย ก็มีคำถามเกี่ยวกับตัวสตาร์ทเตอร์มา ถามว่าสตาร์ทเตอร์กระพริบ แต่หลอดฟลูออเรสเซนต์ ในโคมไฟไม่ติดสักที ทำยังไงดี อะไรเสียกันแน่ แก้ยังไง เปลี่ยนอะไร ชิ้นไหนมาดูคำอธิบายกัน

สตาร์ทเตอร์กระพริบ แก้ยังไงดี

ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อน กับสามสิ่งที่ประกอบกันขึ้นมาเป็น โคมไฟหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่เราใช้ๆ กันอยู่ และยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์ ในวงจรนั้นจะมี หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์, สตาร์ทเตอร์ และบัลลาสต์ แน่นอน และทั้งสามสิ่งเกี่ยวพันกันเสมอ สิ่งใดสิ่งหนึ่งเสีย หลอดไฟก็ไม่ติด, หลอดไฟติดแต่ไม่สว่าง, หลอดไฟกระพริบ และอาจจะมีนอกเหนือจากนี้ ทีนี้เรามาแยกพูดถึงแต่ละชิ้นเลยดีกว่า

สตาร์ทเตอร์ คือ อะไร?
ความจริงแล้ว เจ้าตัวสตาร์ทเตอร์นี่ทำหน้าที่เหมือนเป็นสวิทช์ไฟ แบบชั่วคราวของวงจร ทำหน้าที่เพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น เราก็เลยเรียกมันว่า สตาร์ทเตอร์ การทำงานของเจ้านี่ เริ่มต้นเมื่อเราเปิดสวิทช์ไฟ หน้าสัมผัสของตัวสตาร์ทเตอร์ในกระเปาะแก้ว ก็จะร้อนจนสัมผัสกัน ไฟก็จะไหลผ่านตัวสตาร์ทเตอร์ ไปกระตุ้นให้ไส้หลอดฟลูออเรสเซนต์ให้ทำงานได้ เมื่อไส้หลอดร้อน เริ่มทำงานได้ เจ้าสตาร์ทเตอร์ก็ตัดพอดี ซึ่งระยะเวลาการทำงานของตัวสตาร์ทเตอร์นี่ประมาณ 1-2 วินาทีเท่านั้น แต่ถ้าไส้หลอดยังไม่ร้อน อิเล็คตรอนในหลอดไฟยังไม่วิ่ง ก็จะเกิดการทำงานของสตาร์ทเตอร์ซ้ำอีกครั้ง เราจึงเห็นว่าสตาร์ทเตอร์กระพริบ

บัลลาสต์ คือ อะไร?
บัลลาสต์ทำหน้าที่ควบคุมกระแสไฟ ให้ไหลในวงจรอย่างพอดีๆ อธิบายง่ายๆ แบบนี้แหละ สั้นๆ ได้ใจความ แต่บัลลาสต์แบบขดลวดอย่างที่เราใช้งานกันอยู่มากมายตามบ้านในปัจจุบัน และยังไม่เปลี่ยนไปเป็นบัลลาสต์อิเล็คทรอนิคส์นั้น สร้างความร้อนภายในโคมไฟมากทีเดียว ซึ่งไม่มีประโยชน์เลย เพราะเราต้องการแสงสว่าง ไม่ใช่ฮีทเตอร์สักหน่อย เดี๋ยวบทความต่อไป จะมาพูดถึงการเปลี่ยนบัลลาสต์กันบ้าง

หลอดฟลูออเรสเซนต์ คือ อะไร
ไม่ต้องอธิบายกันมากมาย หลอดไฟกลมๆ ที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แต่หลอดชนิดนี้ เสียบไฟ แล้วจะไม่ติดทันทีเหมือนกันหลอดไส้ หรือหลอดหลอดอินแคนเดสเซนต์ จึงต้องมีตัวช่วย เป็นสตาร์ทเตอร์ และบัลลาสต์อย่างที่บอกเล่ามาแล้วนั่นเอง

อย่างที่บอกไปแล้วว่า หลอดฟลูออเรสเซนต์ ต้องมีตัวช่วยกระตุ้นหลอดไฟ ทำให้อิเล็คตรอนวิ่งให้ได้ แต่ถ้าหลอดไฟเสีย ตัวสตาร์ทเตอร์ไม่รู้หรอก มันจะทำงาน ติด-ดับ-ติด-ดับ ไปเรื่อยๆ วนไปเรื่อยๆ นั่นแหละ เราจึงมักจะเห็นว่า หลอดฟลูออเรสเซนต์ก็กระพริบ (กระพริบห่างๆ ตามการกระพริบของสตาร์ทเตอร์ แต่ไม่ติดสักที ไม่กระพริบแบบถี่ยิบ เหมือนกับ หลอดฟลูออเรสเซนต์เสียๆ อิเล็คตรอนวิ่งไม่ต่อเนื่อง จะกระพริบถี่ๆ) และตัวสตาร์ทเตอร์ก็กระพริบ ในกรณนี้แบบนี้ ให้ตรวจเช็คสภาพของหลอดฟลูออเรสเซนต์ก่อนเลยว่าขั้วดำหรือไม่ ซึ่งปกติเกิดจากหลอดไฟเสื่อมไปตามอายุการใช้งานนี่แหละ

ถ้าสตาร์ทเตอร์เสีย จะมีอาการนิ่ง คือไม่มีการตอบสนองใดๆ เมื่อเราเปิดสวิทช์ไฟ ซึ่งตัวสตาร์ทเตอร์ทุกตัวจะถูกครอบด้วยพลาสติก ถ้าเป็นพลาสติกทึบแสง เราก็มองไม่เห็น หรือเห็นแสงกระพริบที่ตัวสตาร์ทเตอร์ขณะทำงานไม่ชัดเจน แต่ถ้าพลาสติกเป็นแบบใสๆ สีฟ้า ก็จะมองเห็นได้ง่ายหน่อย ถ้าสตาร์ทเตอร์เสีย ก็จะไม่ทำงาน แสงกระพริบน้อยๆ ที่เกิดจากหน้าสัมผัสในตัวสตาร์ทเตอร์ต่อกัน ก็จะไม่มี ไม่เห็น และถ้าถอดครอบพลาสติกออกมาดู จะมองแทบไม่เห็นหน้าสัมผัสเลย เพราะมีความดำปกคลุมไปทั่วทั้งกระบอกแก้ว

ส่วนบัลลาสต์ เป็นชิ้นส่วนสุดท้าย ที่เสียหายยากที่สุด โคมไฟหลอดฟลูออเรสเซนต์ บางแห่งที่พบมา บัลลาสต์ถูกฝน ขึ้นสนิมเขรอะก็ยังใช้งานได้อยู่ ทนทานขนาดนั้นทีเดียว แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีปัญหา โดนเฉพาะปัญหาเรื่องของเสียงคราง อย่างที่เคยเขียนบทความไปแล้วในเรื่องโคมไฟหลอดฟลูออเรสเซนต์ มีเสียงดัง ซึ่งปัญหาเกิดจากบัลลาสต์ ซึ่งต้องตรวจเช็คก่อนที่จะลงมือแก้ไข

ดังนั้น ชิ้นส่วนไหนในโคมไฟหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่เสียหายง่ายที่สุด และควรจะตรวจเช็คก่อนเลย เมื่อเกิดปัญหาหลอดไฟไม่ติด ก็คือ หลอดไฟหลอดฟลูออเรสเซนต์ ถ้าลองตรวจสอบที่ขั้วสายไฟว่าแน่นหนาดีแล้ว หรือลองเปลี่ยนหลอดแล้ว ไม่ติดเหมือนเดิม ค่อยไปดูตัวสตาร์ทเตอร์ และสุดท้ายที่ปัญหาน้อยที่สุดและมีความเป็นไปได้ต่ำมากคือ บัลลาสต์ครับ บางทีเราก็คาดเดาชิ้นส่วนที่เสีย จากที่เราเห็นภายนอกได้อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องขั้วดำของหลอดไฟ และกระบอกแก้วของสตาร์ทเตอร์ได้เหมือนกัน แต่วิธีที่ง่ายที่สุด แม่นยำที่สุด จึงเป็นการตรวจสอบ ด้วยการเปลี่ยนแทนที่เพื่อทดสอบ