บริการด้านอาหาร: อาหารสุขภาพ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ

News

บริการด้านอาหาร: อาหารสุขภาพ อาหารสำหรับผู้สูงอายุ ป้องกันการเกิดภาวะขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุคือบุคคลที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเสื่อมสลายลง ยิ่งอายุมากขึ้นร่างกายยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ก็จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุในหลายๆด้าน รวมไปถึงเรื่องของการรับประทานอาหาร เพราะสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากและฟันทำ ให้การรับประทานอาหารไม่มีประสิทธิภาพเหมือนแต่ก่อน เนื่องจากอาจจะมีการสูญเสียฟันทำให้รับประทานอาหารได้ไม่เต็มที่ และอาจจะมีการส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร ภายในช่องปากทำให้รู้สึกเจ็บปวดเวลารับประทานอาหาร และร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้มีความเครียดร่วมด้วย

สำหรับในเรื่องของการจัดเตรียม อาหารสุขภาพ สำหรับผู้สูงวัย ก็ถือว่าอาหารสำหรับผู้สูงอายุ จะต้องรับประทานง่ายเคี้ยวง่าย ซึ่งในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ อาจจะให้รับประทานอาหารประเภท ซุปหรือโจ๊ก เป็นต้นนอกจากปัญหาในเรื่องของสุขภาพช่องปากและฟันและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายแล้วความสามารถในการรับรสชาด บนลิ้นก็เสื่อมถอยเมื่ออายุมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย ไม่เจริญอาหาร ทำให้รู้สึกไม่อยากรับประทานอาหาร ซึ่งการปรับเปลี่ยนรสชาดให้พอดีและตรงกับความชอบของผู้สูงอายุก็จะช่วยกระตุ้นการขับน้ำย่อยและน้ำลาย ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหารมากขึ้น

สำหรับอาหารที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ควรเป็นอาหารที่ครบ 5 หมู่ หลายคนเกิดความเข้าใจผิดว่าอาหารเสริม มีประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ แต่แท้จริงแล้วอาหารเสริม อาจจะไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเมื่อผู้สูงอายุต้องรับประทานอาหารเสริมที่มีลักษณะคล้ายยา อาจจะทำให้เกิดการทำงานของไตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายมาก ดังนั้นผู้สูงอายุควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วน 5 หมู่ โดยที่ให้ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต วิตามินและเกลือแร่ ในปริมาณที่เหมาะสมต่อความต้องการของร่างกาย โดยสารอาหารแต่ละชนิดก็จะให้คุณค่าทางอาหารที่ต่างกัน มีการให้พลังงานที่มากน้อยต่างกันซึ่งอาหารที่ผู้สูงอายุควรที่จะได้รับก็คือ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ นม ไข่ โดยรับประทาน เนื้อสัตว์ 120 – 160 กรัมต่อวัน นมควรรับประทานในปริมาณ 250 มิลลิลิตรหรือเท่ากับ 1 แก้ว และไข่ 1 ฟองต่อวัน หรือ 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ สำหรับอาหารประเภทข้าว แป้ง ควรรับประทาน 3-4 ถ้วยต่อวัน หรือข้าวสุกมื้อละ 2 ทัพพี ต่อมาผักใบเขียวไม่ว่าจะเป็นแบบสดหรือแบบต้ม ควรรับประทาน 1 ถ้วยต่อวันและผักสีเหลืองครึ่งถ้วยต่อวัน รวมไปถึงผลไม้ ผู้สูงอายุควรรับประทานมื้อละ 1 ส่วนต่อวันและควรหลีกเลี่ยงผลไม้รสหวานจัด เช่น ทุเรียน ขนุน ลำไย เป็นต้น รวมไปถึงไขมัน น้ำมันพืช ควรรับประทานอยู่ที่ 2 ช้อนโต๊ะต่อวัน และควรหลีกเลี่ยงไขมันสัตว์และเนย อย่างไรก็ตามการจัดเตรียมอาหารสำหรับผู้สูงอายุนั้น ควรจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายของผู้สูงอายุ โดยอาหารจะต้องมีความอ่อนนุ่มและปรุงให้นิ่มและรับประทานง่าย ย่อยง่ายและที่สำคัญจะต้องมีสารอาหารครบถ้วน 5 หมู่และรับประทานในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย สำหรับปริมาณอาหารของแต่ละมื้อ ควรจะลดลงแต่ให้บ่อยขึ้นอาจจะจัดเป็น 4-5 มื้อต่อวัน และการที่ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารขณะที่ยังร้อนๆ อยู่จะช่วยกระตุ้นน้ำย่อยอาหารและทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้นส่งผลให้การย่อยอาหารดีขึ้นด้วย

ซึ่งผู้สูงอายุ มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ โดยอาการเบื่ออาหาร ซึ่งภาวการณ์เบื่ออาหาร สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ผู้ที่เกิดภาวะเบื่ออาหาร มีโอกาสที่ จะกลับมาเจริญอาหารและรับประทานได้ตามปกติ เมื่อได้รับการรักษา สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร นอกจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและปัญหาสุขภาพฟันที่จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกเบื่ออาหารแล้วยังมีเรื่องของ ปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด ความวิตกกังวล ที่จะทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะเบื่ออาหาร ซึ่งอาการเบื่ออาหาร อาจจะมีอาการ อ่อนเพลีย และไม่มีแรงจูงใจทำสิ่งต่าง ๆ นอกจากนี้ ผู้ที่ประสบภาวการณ์กินที่ผิดปกติ ก็มักเกิดอาการเบื่ออาหารได้ ผลข้างเคียงของการใช้ยา ยารักษาปัญหาสุขภาพบางอย่าง ส่งผลให้ผู้สูงอายุรู้สึกอยากอาหารน้อยลง โดยยาที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็ง ยาโคเดอีน และมอร์ฟีน เป็นต้น เพราะฉะนั้น ในเรื่องของอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ถือเป็นเรื่องที่ต้องดูแลให้มากเป็นพิเศษ เพราะผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะขาดสารอาหารได้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้