ท้องผูกบ่อยจนกลายเป็นเรื่องปกติ หลาย ๆ คนคงจะมีปัญหาท้องผูกมาเป็นเวลานานและมักจะหลงคิดไปว่ามันเป็นเรื่องปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้วการปล่อยให้ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานจนเรื้อรังอาจส่งผลให้เกิดผลเสียหลายอย่าง ทั้งทางร่างกาย เช่น การเป็นแผล การเกิดริดสีดวง หรือมีความเจ็บปวดขณะขับถ่าย รวมไปถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสร้างความทุกข์ทรมานในชีวิตได้ ดังนั้นการเอาใจใส่ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายและรู้เท่าทันอาการท้องผูกย่อมช่วยให้เรารับมือได้อย่างถูกวิธี
สาเหตุที่พบได้ของอาการท้องผูกอาจสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1.สาเหตุที่เกิดจากโรคทางกาย ได้แก่ เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง โรคทางระบบประสาทต่างๆ เช่น ได้รับบาดเจ็บหรือมีโรคที่สมองหรือไขสันหลัง โรคพาร์กินสัน เป็นต้น
2.สาเหตุจากยาที่รับประทานประจำ ยาที่พบว่าทำให้เกิดท้องผูกบ่อย ได้แก่ กลุ่มยาทางจิตเวช เช่น ยาที่รักษาอาการซึมเศร้า ยาลดการบีบเกร็งของลำไส้ที่ใช้แก้ปวดท้อง เช่น ยาแก้ปวด Buscopan ยารักษาโรคพาร์กินสัน และยาแก้แพ้บางชนิดที่ใช้กันเป็นประจำ เช่น Chlorpheniramine (CPM) ยากันชัก เช่น Dilantin
ยาลดความดันโลหิต ได้แก่ Diltiazem, Verapamil, Clonidine ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของ Morphine หรืออนุพันธ์ของ Morphine ธาตุเหล็ก ที่มีอยู่ในยาบำรุงเลือด ยาลดกรดหรือ Vitamin เสริมที่มีส่วนผสมของ Calcium หรือ Aluminium ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น Diclofenac, Piroxicam และ Indometracin ถ้าท่านมีประวัติรับประทานยาในกลุ่มนี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มีอาการท้องผูกได้
3.การอุดกั้นของลำไส้ การอุดกั้นของทางเดินอาหารสามารถทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ ซึ่งภาวะดังกล่าว ได้แก่ มะเร็งหรือเนื้องอกของลำไส้ใหญ่และทวารหนักลำไส้ตีบตันจากสาเหตุต่างๆ ความผิดปกติที่ทวารหนัก เช่น ทวารหนักกลืนกัน ทวารหนักปลิ้น ทวารหนักเป็นกระเปาะยื่นเข้าช่องคลอด (ในสตรี) หรือรูทวารหนักตีบตัน หรือมีการลดน้อยลงของปมประสาทบริเวณลำไส้ใหญ่มาแต่กำเนิด (Hirschprung’s disease)
4.สาเหตุที่เกิดจากการทำงานของลำไส้หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ ได้แก่ การเบ่งไม่เป็นโดยมีการบีบตัวของกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักไม่ประสานกับการเบ่ง การเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่น้อยกว่าปกติหรือมีการเคลื่อนไหวไม่ประสานกันทำให้อุจจาระเคลื่อนไหวภายในลำไส้ใหญ่ช้ากว่าปกติ และภาวะลำไส้แปรปรวน
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ท้องผูกได้ง่าย ได้แก่ การที่ผู้ป่วยเคลื่อนไหวน้อย รับประทานอาหารที่มีกากน้อย และมีนิสัยในการขับถ่ายที่ไม่ดี สามารถทำให้มีอาการท้องผูกได้เช่นกัน
ในบรรดาสาเหตุของอาการท้องผูกที่กล่าวมาข้างต้น พบว่ามีผู้ป่วยเป็นจำนวนน้อยเท่านั้นที่อาการท้องผูกมีสาเหตุมาจากโรคทางกาย ยา หรือโรคของลำไส้ ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกเรื้อรังมากกว่าร้อยละ 90 จะหาสาเหตุไม่พบ ถ้านำผู้ป่วยกลุ่มนี้มาตรวจดูการเคลื่อนไหวของลำไส้และการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณทวารหนัก จะพบว่าผู้ป่วยในกลุ่มนี้ประมาณครึ่งหนึ่งจะมีการเคลื่อนไหวของลำไส้หรือกล้ามเนื้อที่ควบคุมการขับถ่ายผิดปกติ สาเหตุของความผิดปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่ทราบกันชัดเจน แต่เป็นภาวะที่สามารถรักษาได้ การรู้จักและเข้าใจเกี่ยวกับความผิดปกติในผู้ป่วยกลุ่มนี้และแนวทางการดูแลรักษาจึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยมาก
เมื่อไรที่ผู้ป่วยอาการท้องผูกควรไปพบแพทย์
ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูกจะตรวจไม่พบโรคทางกาย มีเพียงส่วนน้อยไม่ถึงร้อยละ 10 ที่จะพบสาเหตุ มีการศึกษาวิจัยพบว่าผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังที่ไม่มีอาการผิดปกติ (อาการหรือลักษณะเตือน) มีโอกาสเป็นมะเร็งหรือเนื้องอกในลำไส้ไม่ต่างจากคนปกติในวัยเดียวกัน
ดังนั้น ผู้ป่วยท้องผูกเรื้อรังส่วนใหญ่ จึงไม่จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเพิ่มเติม ถ้าอาการไม่รบกวนมาก ผู้ป่วยที่ควรไปพบแพทย์คือผู้ป่วยที่มีลักษณะและอาการเตือนดังต่อไปนี้ มีอาการซีดจากขาดธาตุเหล็ก ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด น้ำหนักลดผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอายุมากกว่าหรือเท่ากับ 50 ปีและเริ่มมีอาการท้องผูก มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ท้องผูกจนมีอาการของลำไส้อุดตัน (ปวดท้องมาก อึดอัดแน่นท้อง คลื่นไส้อาเจียน) และท้องผูกที่รบกวนมากและรับประทานยาระบายแล้วไม่ได้ผล โดยถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวนี้ แพทย์จะทำการตรวจเพื่อหาสาเหตุเพิ่มเติมของสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการท้องผูก ตามความเหมาะสมต่อไป