การรับประทานกระชายขาว กระชายขาว (Fingerroot) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง มีลำต้นอยู่ใต้ดิน ส่วนรากสะสมอาหารจนมีลักษณะพองออกมาเป็นแง่งคล้ายกับนิ้วมือ มีกลิ่นหอมและมีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกาย ลดการสะสมสารพิษในตับ ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นสมุนไพรที่ดีต่อระบบทางเดินอาหาร และยังมีส่วนช่วยในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง ถ้าจะบอกว่า กระชายขาว เป็นสมุนไพรสารพัดคุณประโยชน์ ก็คงจะไม่ผิดนัก
และถึงแม้ว่า กระชายขาวจะเป็นสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติ แต่การบริโภคกระชายขาวนั้นก็ถือว่ามีความเสี่ยงและต้องบริโภคด้วยความระมัดระวังเช่นกัน หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องการทานกระชายขาวเพื่อบำรุงร่างกาย ก็ควรทราบข้อควรระวังต่อไปนี้ด้วย เพื่อความปลอดภัย
ในสถานการณ์ปัจจุบันมีความสนใจนำกระชายมาใช้เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อป้องกันโควิด-19 กันอย่างแพร่หลาย จึงขอฝากคำแนะนำในการรับประทานกระชายอย่างเหมาะสม ดังนี้
– น้ำกระชายที่ดี ควรต้มเป็นน้ำดื่มจะดีกว่าปั่น หรือ คั้นสด
– กระชายปั่น ไม่ควรดื่มมากเกินไป( ดื่มวันละไม่เกิน 1 แก้วเป๊ก )โดยผสมน้ำผึ้ง มะนาว
– กระชาย ไม่ควรดื่มติดต่อกันทุกวันเป็นเวลานานๆ (ดื่ม 5 วัน แล้วหยุด 2-3)
– หรือเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกระชายขาวสกัดชนิดเม็ดแทน
ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรับประทานกระชายขาว
1. ไม่ควรรับประทานกระชายดิบ ปั่นหรือคั้นสด เพราะถึงแม้กระชายจะมีสารต้านโควิด-19 แต่อาจจะมีสารบางชนิด ที่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อร่างกายได้ การนำมาต้มจึงเป็นการช่วยทำลายสารพิษบางชนิดที่มีในกระชายได้ระดับนึง
2. มีการศึกษาวิจัยพบว่า กระชายจะออกฤทธิ์ได้ดี จากสารสกัด ดังนั้น การนำกระชายมาต้มน้ำดื่ม จึงการสกัดอย่างง่ายอีกวิธีนึง (แต่จะยังไม่ได้สารสำคัญเทียบเท่าการสกัดในการวิจัย)
กระชายขาว มีสารสำคัญ 2 ตัว อันได้แก่ Pandulatin A และ Pinostrobin ซึ่งเป็นสารที่ทีมวิจัยพบว่า สารสกัดดังกล่าวมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสที่เป็นต้นเหตุของโควิด-19 ได้ แต่ต้องใช้สารสกัดดังกล่าวในปริมาณที่สูงมากจึงจะสามารถยับยั้งอย่างได้ผล
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยในคน เพราะการจะทานกระชายขาวเพื่อให้ได้รับสารสกัดดังกล่าวในปริมาณที่สูงพอ จนสามารถต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างได้ผลและปลอดภัยนั้น ยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยใดๆ มายืนยันได้